https://www.facebook.com/pmatHRsociety https://twitter.com/pmathrsociety https://www.youtube.com/user/PMATVideos http://line.me/ti/p/@pmat
ทำอย่างไร HR แบบเราถึงจะหยุดทำตัวแย่ ๆ ได้??
กลับš


 ทำอย่างไร HR แบบเราถึงจะหยุดทำตัวแย่ ๆ ได้??


พฤติกรรมที่ทำร้ายตัวเองและคนรอบข้าง หรือ destructive behavior เป็นสิ่งที่หลายคนเริ่มเผลอทำโดยที่ไม่รู้ตัว ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเราคงไม่ได้มีเวลามากพอที่จะได้รับการ coach หรือได้รับ feedback จากเพื่อนร่วมงาน หรือหัวหน้างานโดยตรง หรือแม้กระทั่งคนในครอบครัว เพื่อนสนิท เป็นต้น บางครั้งเราก็เผลอทำตัวแย่ ๆ ใส่คนรอบข้างโดยไม่รู้ตัว

สิ่งที่อันตรายที่สุดคือ การที่เราไม่รู้ตัวว่าเราเผลอทำพฤติกรรมที่มีลักษณะไปในทางลบมากเข้าจนเราหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกับมัน จนกลายเป็นนิสัย การจะปรับปรุง หรือแก้ไขให้นิสัยเราเปลี่ยนได้นั้นถือเป็นเรื่องที่ท้าทายมากในวงการ coaching ในทางจิตวิทยานั้นอธิบายได้ด้วยการทำงานของสมองเรา การเปลี่ยนแปลงอุปนิสัยของเรานั้นต้องอาศัยแรงผลักจากสมองทั้งสองส่วน โดยส่วนหนึ่งจะเป็นตัวที่คอยเรียนรู้พฤติกรรมต่าง ๆ ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะคอยส่งสัญญาณบอกเราว่า ดีแล้ว ให้ทำต่อไป จนกระทั่งพฤติกรรมนั้นกลายเป็นนิสัยติดตัวเรา ในเชิงวิทยาศาสตร์นั้นจึงบ่งบอกเราว่าการเปลี่ยนนิสัยนั้นเป็นการแก้ปัญหาระยะยาว และจำเป็นจะต้องทำให้ถูกวิธีเสียด้วย และแต่ละคน แต่ละสมอง ก็มีวิธีที่แตกต่างกันไป

HR อย่างเรา ๆ มักเป็นอาชีพที่ไม่ค่อยได้รับการ coaching เสียเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะเป็นเรามากกว่าที่จัดระบบการ coaching หรือ mentoring ให้กับพนักงานเสียมากกว่า ดังนั้นจุดอ่อนประการหนึ่งที่ทำให้ HR บางท่านอาจเผลอสร้าง destructive behavior ขึ้นมาอย่างไม่รู้ตัว คุณ Ron Carucci จาก Navalent (บริษัทที่ปรึกษาทางด้าน Organizational & Leadership
Development) เองก็ทราบถึงปัญหานี้ดี เขารู้ว่าหลาย ๆ คนพยายามที่จะปรับปรุงตัวเอง แต่จนแล้วจนรอดอาการก็ไม่หายและมักจะกลับมาเป็นแบบเดิมเสียทุกครั้งไป HR เอง แม้จะไม่มียศอย่างคำว่า leader ต่อท้าย แต่เราเองก็เป็น leader of people หรือผู้นำบุคลากรในองค์กรของเราเช่นเดียวกัน Ron ได้แนะนำว่าให้เราลองทำสิ่งที่เรียกว่า “ระลึกถึงเรื่องราวเริ่มต้น” หรือ Origin Stories ให้เจอเสียก่อนว่า เพราะอะไรบางทีเราถึงอาจทำเรื่องอะไรให้ใครไม่สบายใจ ยกตัวอย่างเช่น เราเป็น HR ที่ทำไมไม่มีพนักงานซื้อสติ๊กเกอร์รูปหัวใจมาติดในวันแห่งความรัก หรือทำไมพนักงานชอบหลบหน้าเราเวลาเราทักทาย หรือเราอาจได้รับ feedback จากผู้ใหญ่ เจ้านาย หรือเพื่อนร่วมงานของเราบางคนที่ปรารถนาดีเป็นต้น

การสร้างพื้นที่ปลอดภัยในจิตใจของเรา จะทำให้เรามีพื้นที่ที่ทำให้เราได้หลบไปคิดทบทวนเรื่องราวเริ่มต้นอะไรบางอย่างได้ โดย Ron แนะนำว่าเราควรทำทั้งหมด 4 ขั้นตอนดังต่อไปนี้

ขั้นตอนที่ 1 – เขียนเรื่องของเราลงไป
ขั้นตอนนี้ให้เราเริ่มสำรวจชีวิตของเราในช่วงที่เรามีความทรงจำที่ชัดเจนก่อน (คำแนะนำคือตั้งแต่ 5 – 20 ปี) จากนั้นให้เราลองเลือกเรื่องที่ปรากฏขึ้นในความทรงจำของเรา เป็นเรื่องที่เราไม่ค่อยอยากจะจำเสียเท่าไหร่ เพราะมันคือเรื่องที่เราจำได้ว่าเราไปทะเลาะกับคนอื่น หรือเราเสียใจกับการกระทำอะไรบางอย่างของเรา ขั้นตอนนี้เราอาจจะเลือกเรื่องเริ่มต้นหลาย ๆ เรื่องก็ได้ เพื่อลองทบทวนดูว่า เหตุการณ์มันซ้ำเดิมหรือไม่ ถ้าใช่ แสดงว่าเราอาจจะกำลังเริ่มมองเห็นภาพอะไรบางอย่างขึ้นมาแล้ว จากนั้นให้เราลองเขียนเหตุการณ์นั้นสั้น ๆ ลงไปในกระดาษ หรือจำไว้ในใจก่อนก็ได้

ขั้นตอนที่ 2 – บรรยายความรู้สึกของเรา
เลือกเรื่องในขั้นตอนที่หนึ่งมา แล้วให้เราลองนึกว่าตัวเราเองในตอนนี้นั้น หากย้อนกลับไปบรรยายเหตุผลของการเกิดพฤติกรรมเหล่านั้นได้ มันเกิดมาจากอะไร ยกตัวอย่างเข่น บางคนอาจจะเจอช่วงเวลาเริ่มต้นทำงานที่โดนเจ้านายด่าเพราะเตรียมตัวมาไม่ดี ด่าเรากลางห้องประชุมจนทำให้เราเสียความมั่นใจไป จากนั้นเราเลยเป็นคนที่ไม่ชอบการนำเสนอผลงาน หรือออกไปพูดข้างหน้าเวที เป็นต้น หากเราสามารถบรรยายความรู้สึกตอนนั้นได้ เช่น “จนกว่าเราจะเตรียมตัวให้พร้อม เราไม่ควรเป็นคนนำเสนออะไรทั้งนั้น” เราจะมองเห็นแล้วว่าจริง ๆ ภายในใจของเรา รู้สึกอย่างไรกันแน่ เราใช้เวลาทั้งปีในการหลบเลี่ยงการนำเสนอเพราะความรู้สึกนี้หรือไม่?

ขั้นตอนที่ 3 – บอกพฤติกรรมที่คุณต้องการออกมา
จากตัวอย่างในขั้นตอนที่สอง ลองคิดสภาพว่าหากเราเป็นคนที่ไม่กล้านำเสนองานมาโดยตลอด แล้วพฤติกรรมอะไรของเรา ณ ตอนนั้นล่ะที่ทำให้เราอยู่รอดมาถึงตอนนี้ เราอาจจะค้นพบว่า พฤติกรรมที่เราต้องการคือ ทำตัวเองให้จืดจางที่สุด ไม่พยายามโดดเด่น พูดให้น้อย หรือทำตัว low profile เพื่อคนจะได้ไม่เลือกเราให้ออกไปนำเสนองาน อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมนี้อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเราในงานได้ เราคงไม่สามารถหลบเลี่ยงสิ่งที่เราไม่อยากทำ ซึ่งเป็น destructive behavior แบบนี้ได้ตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งงาน HR ที่ต้องคอยนำเสนอสิ่งต่าง ๆ ให้กับพนักงานเสมอ

ขั้นตอนสุดท้าย – เปลี่ยนคำบรรยาย และเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่
เมื่อเราตระหนักรู้ถึงคำบรรยายจุดเริ่มต้นของเราแล้ว เราลองมาปรับมุมมองกับมันใหม่ ลองเปลี่ยนคำบรรยายในวันนั้นให้กลายเป็นเรื่องใหม่ เช่น “เราไม่ต้องเตรียมตัวให้พร้อม ขอแค่เรามั่นใจในสิ่งที่เรารู้ เราก็สามารถนำเสนอได้” จากนั้นกำหนดพฤติกรรมใหม่ของเราไปเลยว่าจากนี้ไปเราจะมั่นใจมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร ขอให้เป็นเรื่องที่เรารู้ดีเราจะเป็นคนที่ขอนำเสนอเอง เป็นต้น

สำหรับสี่ขั้นตอนนี้ หลายท่านอาจจะอ่านแล้วพบว่าปฏิบัติได้ยาก แต่ขอแนะนำว่าเป็นสี่ขั้นตอนที่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง ถามได้ด้วยตัวเอง และใช้เวลาไม่นาน สำหรับ HR ที่อยากลองเปลี่ยนตัวเองให้เป็นที่รักของคนรอบข้างมากขึ้น หรือรักตัวเองให้มากขึ้น


หากท่านผู้อ่านชื่นชอบบทความที่ทาง PMAT ได้นำเสนอ ทาง PMAT ขอเชิญชวนท่านผู้อ่าน และผู้ที่สนใจเข้าร่วมงาน PMAT Thailand HR Day 2020 ระหว่างวันที่ 2-3 ธันวาคม 2020 นี้ โดยหัวข้อที่น่าสนใจนอกเหนือจากเรื่องปัญหาและความท้าทายในอนาคตที่จะเกิดขึ้นในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลแล้วนั้น ยังมีประสบการณ์และการแลกเปลี่ยนความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ที่ไม่ได้จำกัดเพียง HR เท่านั้น

สามารถเข้าร่วมชมงานสัมมนาออนไลน์ แบบ live Streaming
ไม่เพียงเท่านั้น ท่านยังสามารถรับชมย้อนหลังได้ 15 วัน
(วันที่ 8 - 22 ธ.ค. 2563) หมดกังวลเรื่องเวลาและการเดินทาง
อัดแน่นไปด้วยเนื้อหาสาระทั้งหมด 28 หัวข้อ โดยวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญกว่า 30 คน
ข้อมูลเพิ่มเติม https://www.hrday2020.net



อ้างอิง
Why Is Behavior Change So Hard? | Psychology Today
https://www.navalent.com/resources/articles/beyond-bad-coaching-what-leads-to-true-leadership-transformation/